TV Online ทุกวันเวลา ๑๐.๐๐-๒๒.๐๐ น.

 ชมรมคนปลดหนี้ & ล้มบนกองฟูก
- ต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้ ถูกทวงหนี้ นายจ้างเอาเปรียบ ถูกให้ออกจากงาน อยากล้มบนกองฟูก
- เราจะช่วยท่านปลดหนี้(ชักดาบ)ตามวิธีทางกฎหมาย

หนี้ บัตรเครดิต แก้ปัญหาหนี้ ชมรมปลดหนี้ ถูกทวงหนี้
  หน้าเว็บหลัก      หน้าหลักบอร์ด      ตั้งคำถาม      ค้นหา      สมัครเข้าชมรมคนปลดหนี้   
สมาชิกบอร์ด ออนไลน์ 23 ท่าน  
:: สมาชิกเข้าระบบ | ชื่อเข้าระบบ :: รหัสผ่าน :
:: ผู้ดูแลระบบ เฉพาะเจ้าหน้าที่ดูแลระบบเท่านั้น
ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ ย้อนกลับ | ถัดไป
  • ปวิพ.292(3) และ309ทวิ แก้ไขเพิ่มใหม่ พ.ศ.2547 ลูกหนี้ยิ่งตายสถานเดียว เจ้าหนี้และพวกข้าราชการคอรัปชั่นจะรวยขึ้น เพราะพวกมันจะกลอุบายหลอกซื้อทรัพย์ไปขายกันสบาย แบบนี้ไม่เรียกว่าช่วยพวกให้ร่ำรวยจะเรียกว่าอะไรครับ

     

    ข้อพิจารณาประกอบ

    พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๔๗

     พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม

    ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21 ) พ.ศ. 2547

     

    โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

     พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

     

     

    มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2547"

     

    มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

     

    มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (3) ของ มาตรา 292 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

     

    “(3) ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือภายในเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งโดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี”

     

    มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 309 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

     

    “มาตรา 309 ทวิ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกนี้ตามคำพิพากษานั้น ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินไป เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่คัดค้านหรือไม่ก็ตาม หาผู้ซื้อที่จะเสนอซื้อ ในราคาที่บุคคลดังกล่าวต้องการมาเสนอซื้อในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อไป โดยให้ผู้เสนอราคาสูงสุดต้องผูกพันกับการเสนอราคาดังกล่าวเป็นระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่เสนอราคานั้น และในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อไป หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่สูงกว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุดได้เสนอในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน หรือไม่มีผู้ใดเสนอราคาเลยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน แต่หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อไปในจำนวนสูงกว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุดได้เสนอในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น

     

    ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีเห็นว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร และการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ได้ และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องหรือแก้ไขหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควรให้เสร็จภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องนั้น

    ให้นำบทบัญญัติในวรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหกของมาตรา 296 มาใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องตามวรรคสองโดยอนุโลม

    คำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด”

     

     

     

    ข้อพิจารณาประกอบ

    พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2547

     

    1.การแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. ฉบับที่ 21 นี้ เป็นการแก้ไขในเรื่องบังคับคดีเฉพาะ 2 จุดเท่านั้น ได้แก่

     

    1.1 เพิ่มเติมเงื่อนไขการงดบังคับคดี ตามมาตรา 292 (3) จากเดิมที่เคยมีเพียงประการเดียวว่า ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอได้งดการบังคับคดีไว้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องสั่งงดการบังคับคดีตามที่ได้รับแจ้ง โดยไม่มีอำนาจสั่งเป็นอย่างอื่นเลย แม้ว่าการงดบังคับคดีนั้นจะทำให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลใดต้องเสียหายก็ตาม กฎหมายใหม่นี้เพิ่มเติมเงื่อนไขขึ้นอีก 2 ประการ ว่าต้อง “ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคำพิพากษา และบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี”

     

    1.2 แก้ไขมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ เพื่อให้การประวิงการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยอ้างเหตุว่าขายได้ราคาต่ำเกินสมควร กระทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม

     

    2. ในส่วนของการเพิ่มเติมเงื่อนไขการงดบังคับคดีตามมาตรา 292(3) นั้น มีเหตุมาจากพฤติกรรมที่ไม่สุจริตของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ที่อาจใช้สิทธิแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้เพื่อกลั่นแกล้งลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือเพื่อกลั่นแกล้งเจ้าหนี้รายอื่นของลูกหนี้ เช่น ชิงฟ้องและนำยึดทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ก่อนเจ้าหนี้อื่นแล้วแจ้งขอให้งดการบังคับคดีไว้ ทำให้เจ้าหนี้อื่นไม่อาจขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินนั้นได้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ที่มีบุริมสิทธิ์ก็ตาม

     

    มาตรา 292 (3) ที่แก้ไขใหม่นี้ ทำให้สิทธิของดการบังคับคดีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเคยมีอยู่อย่างเด็ดขาดต้องหมดไป เพราะตามกฎหมายใหม่จะต้องมีความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคำพิพากษา และความยินยอมเป็นหนังสือจากบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี เช่น ผู้รับจำนอง หรือผู้รับจำนำทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีนั้นเสียก่อน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงจะสั่งงดการบังคับคดีตามมาตรา 292(3) ได้ ดังนั้น หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีหนังสือแจ้งขอให้งดการบังคับคดีมาเพียงฉบับเดียว โดยไม่มีหนังสือแสดงความยินยอมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแนบมาด้วยเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ยังไม่ต้องปฏิบัติตาม โดยยังคงดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจจะสอบถามลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีให้ตอบเป็นหนังสือก่อนก็ได้ เพื่อความรอบคอบ

     

    เมื่อเข้าเงื่อนไขที่จะงดการบังคับคดีตามมาตรา 292 (3) ที่แก้ไขใหม่นี้ได้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งงดการบังคับคดีไปแล้วมีปัญหาว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะกลับมาขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปใหม่ได้หรือไม่ ในข้อนี้เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 3807/2546 วินิจฉัยไว้ตามกฎหมายเก่าว่า “หลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้ตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งแล้ว ปรากฏว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามที่เคยตกลงกันไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ชอบที่จะขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้งดบังคับคดีไว้ตามมาตรา 292 (3) นี้ มิได้ทำให้สิทธิในการบังคับคดีของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหมดสิ้นไป” หลักกฎหมายที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้นี้น่าจะยังคงใช้กับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ เพราะมิได้ขัดแย้งกับส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ตามกฎหมายใหม่นี้ คนที่จะมาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้นั้น ไม่น่าจะจำกัดอยู่ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีก็อาจจะขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้เช่นกันซึ่งเมื่อมีคำขอเช่นนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องพิจารณาถึงความถูกต้องชอบธรรมเสียก่อนว่า มีเหตุที่ควรจะดำเนินการบังคับคดีต่อไปให้ตามคำขอหรือไม่ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตัดสินใจดำเนินการไปในทางใดก็ตาม ฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นตามมาตรา 296 วรรคสอง ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้

     

    3. สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 309 ทวิ นั้น มีสาระสำคัญ 4 ประการคือ

     

    3.1 ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่งเดิม เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ได้ใช้สิทธิคัดค้าน(วีโต) การขายทอดตลาด ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยเหตุว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอซื้อนั้น “มีจำนวนต่ำเกินสมควร”แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายไป โดยมิได้มีบทบังคับว่า ผู้เสนอราคาสูงสุดจะต้องผูกพันกับราคาที่ตนเสนอไว้หรือไม่เพียงใด ทำให้เกิดปัญหาโต้เถียงกันโดยไม่จำเป็น กฎหมายใหม่จึงได้บัญญัติไว้ให้ชัดว่า “ให้ผู้เสนอราคาราคาสูงสุดต้องผูกพันกับการเสนอราคาดังกล่าวเป็นระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่เสนอราคานั้น” ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงควรนัดขายครั้งต่อไปภายในระยะเวลาสามสิบวันด้วยเช่นกัน เพื่อว่าหากในการขายครั้งต่อไปนั้นไม่มีผู้ใดให้ราคาสูงกว่าแล้วจะได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายครั้งก่อนได้ อนึ่ง ในการเลื่อนไปนัดขายครั้งต่อไปนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีควรจะกำชับหรือแจ้งให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี หาผู้ที่พร้อมจะให้ราคาที่สูงกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอไว้ในการขายครั้งก่อนมาสู้ราคาในการขายครั้งต่อไปด้วย ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็นบุคคลที่คัดค้านการขายในครั้งก่อนหรือไม่ก็ตาม

     

    3.2 มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ยังได้บัญญัติเพิ่มเติมไว้ในตอนท้ายให้ชัดเจนอีกด้วยว่า ในการขายครั้งต่อไปนั้น หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดไม่สูงไปกว่าราคาที่มีผู้เสนอไว้ในการขายครั้งก่อน หรือไม่มีผู้ใดเสนอราคาเลย ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายครั้งก่อน แต่หากมี ผู้เสนอราคาสูงกว่าราคาสูงสุด ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุด ในการขายครั้งหลังนั้น

     

    บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติได้ชัดเจนและสามารถขายทอดตลาดทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังได้ตัดดุลพินิจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เคยมีอยู่ตามกฎหมายเดิมไปเสียด้วย กล่าวคือ มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่งเดิม บัญญัติว่า ในการขายครั้งต่อไป หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนที่มีผู้เสนอไว้ในการขายครั้งก่อนแล้วก็ “ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคานั้นได้” ซึ่งคำว่า “ได้” นี้เองที่แสดงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไม่เคาะไม้ขายก็ได้ ทำให้เกิดการปฏิบัติที่ลักลั่น และเป็นประเด็นพิพาทกันโดยไม่จำเป็น กฎหมายใหม่จึงได้ตัดคำว่า “ได้” ไปเสียและเป็นผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ที่เสนอราคาที่สูงกว่าราคาสูงสุดในการขายครั้งก่อน

     

    มีปัญหาว่าถ้าในการขายครั้งใหม่ไม่มีผู้ใดเสนอราคาที่สูงกว่าราคาสูงสุดในการขายครั้งก่อน และล่วงเลยระยะเวลาสามสิบวัน ที่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายครั้งก่อนต้องผูกพันตามกฎหมายไปแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาที่ต่ำกว่าราคาสูงสุดในการขายครั้งก่อนได้หรือไม่? มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1705/2547 วินิจฉัยว่า ถ้าราคาสูงสุดในการขายครั้งใหม่นั้น เป็นราคาที่สมควรแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีอำนาจเคาะไม้ขายได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง

     

    คำพิพากษาฎีกาที่ 1705/2547 มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง หาได้มีความหมายว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อๆ มา เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาที่สูงกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอในครั้งก่อนเท่านั้นไม่ เพราะการขายทอดตลาดในครั้งต่อมาอาจเกิดข้อขัดข้อง เช่น เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือลูกหนี้อาจสมคบกับบุคคลอื่นสร้างราคาซื้อขายในครั้งก่อนไว้สูงกว่าราคาปกติมาก ๆ จึงยากที่จะมีผู้มาเสนอราคาให้สูงกว่าครั้งก่อนได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าราคาที่เสนอครั้งหลังเป็นราคาที่สมควรหรือไม่ และไม่มีอำนาจเคาะไม้ขาย หากเป็นราคาที่ต่ำกว่าครั้งก่อน การขายทอดตลาดก็จะเนิ่นช้าไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมิได้ประสงค์จะให้เกิดผลเช่นนั้น

     

    ถึงแม้คำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้จะตัดสินตามกฎหมายเดิมแต่เนื่องจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่มิได้มีเจตจำนงหรือเนื้อความใดที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายในจุดนี้เลย ดังนั้น จึงยังคงใช่กับมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่ได้

     

    3.3 มาตรา 309 ทวิ วรรคสองเดิม ให้สิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้สั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ ถ้าเป็นการขายที่ได้ราคาต่ำเกินสมควร ที่เกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคา หรือเกิดจากความไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดี ทั้งนี้ โดยมิได้มีบทบัญญัติบังคับศาลไว้ว่าศาลจะต้องไต่สวนและทำคำสั่งให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด ทำให้เป็นช่องทางให้ประวิงการขายทอดตลาดได้โดยไม่มีกำหนดเวลา กรมบังคับคดีจึงเสนอขอแก้กฎหมายให้ตัดสิทธิการร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสองนี้เสีย แต่รัฐสภาไม่เห็นด้วย จึงยังคงให้มีการร้องขอต่อศาลตามความในวรรคสองนี้ไว้ เพียงแต่เพิ่มกรอบเวลาให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่ง “ให้เสร็จภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องนั้น”

     

    ปัญหาที่ตามมาก็คือ ถ้าศาลไม่อาจทำคำสั่งให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้ผลจะเป็นประการใด เห็นว่ากำหนดเวลาเช่นนี้ต้องถือว่าเป็น กำหนดเวลาเร่งรัด ให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งโดยเร็วเท่านั้น มิใช่กำหนดเวลาบังคับเด็ดขาดเหมือนอายุความได้สิทธิหรือเสียสิทธิแต่อย่างใด ทั้งยังต้องถือว่าเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะขยายได้ถ้ามีพฤติการณ์พิเศษ

     

    สำหรับข้อความที่เพิ่มขึ้นว่า นอกจากที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่ง “แก้ไขหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร” ได้ด้วยนั้น เป็นการเพิ่มให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้ศาลสามารถทำคำสั่งได้เหมาะสมแก่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เป็นรายกรณีไป

     

    3.4 มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ เดิมบัญญัติให้สิทธิคู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นตามวรรคสอง ที่ออกให้ในกรณีมีผู้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ได้ราคาต่ำเกินสมควรได้ และให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ซึ่งทำให้มีผู้ทักท้วงว่าทำให้กระบวนการในเรื่องนี้ยืดยาวไปโดยไม่จำเป็น รัฐสภาจึงได้จำกัดขั้นตอนให้สั้นลงเป็นว่า ให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด คู่กรณีไม่อาจอุทธรณ์โต้แย้งต่อไปได้

     

    อย่างไรก็ตาม คำสั่งศาลชั้นต้นที่จะเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่นี้ หมายถึงคำสั่งที่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ได้ราคาต่ำเกินสมควรเท่านั้น มิได้รวมถึงคำสั่งยกคำร้องเพราะเหตุอื่น ๆ ด้วย ในข้อนี้ได้เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 3437/2546 และที่ 10542/2546 วินิจฉัยไว้ตามกฎหมายเก่าที่ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ว่าหมายเฉพาะกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสองเท่านั้น หากศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ เพราะเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม หรือยกคำร้องเพราะผู้ร้องยื่นคำร้องผิดศาล คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องฎีกาต่อไปได้

     

    ปัญหามีว่าหากศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเพราะเห็นว่าผู้ร้องยื่นเกินกำหนดเวลา 15 วันนับแต่วันที่ได้ทราบเหตุที่จะขอเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น โดยอาศัยมาตรา 309 ทวิ วรรคสาม ประกอบมาตรา 296 วรรคสาม คำสั่งศาลดังกล่าวจะถึงที่สุดตามความในวรรคสี่นี้หรือไม่ เห็นว่าไม่น่าจะถึงที่สุด เพราะศาลยังมิไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องเลยว่าเป็นการขายที่ได้ราคาต่ำเกินสมควรจริงหรือไม่ และหากได้ราคาต่ำเกินสมควรจริง จะเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่าง ผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคา หรือเกิดจากความไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีจริงหรือไม่ ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้

     

    อนึ่ง ในการขอเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ผู้ร้องอาจจะอ้างเหตุ ตามมาตรา 296 วรรคสอง และเหตุตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง รวมมาในคำร้องฉบับเดียวกันได้ดังตัวอย่างในคำพิพากษาฎีกาที่ 647/2546 ซึ่งในกรณีเช่นนี้ถึงแม้คำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 309 วรรคสอง จะถึงที่สุด แต่คำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับการขอเพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามมาตรา 296 วรรคสองนั้น หาเป็นที่สุดไปด้วยไม่ คู่กรณีมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อไปได้ เพราะมาตรา 296 มิได้มีบทตัดสิทธิอุทธรณ์ฎีกาไว้เหมือนในมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่

     

    4. มาตรา 309 ทวิ วรรคสาม มิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ยังคงบัญญัติให้นำมาตรา 296 วรรคสามถึงวรรคหก มาบังคับแก่การร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด เพราะเหตุขายได้ราคาต่ำเกินสมควรโดยอนุโลม

     

    มาตรา 296 วรรคสาม วางกรอบเวลาในการยื่นคำร้องไว้ว่าต้องทำภายใน 15 วันนับแต่วันที่ ผู้ร้องได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง โดยผู้ร้องต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น ทั้งต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบถึงการกระทำนั้น ในลักษณะที่เป็นการยอมรับการกระทำดังกล่าว และอย่างช้าที่สุดต้องยื่นก่อนที่การบังคับคดีได้เสร็จลง

     

    มาตรา 296 วรรคสี่ ให้ความหมายของคำว่า “การบังคับคดีได้เสร็จลง” ไว้อย่างชัดเจน โดยใน (2) บัญญัติให้ถือว่าการบังคับคดีใช้หนี้เงินนั้นได้เสร็จลงเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินรายใดให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไป ก็ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้นแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องขอเพิกถอนขายการทอดตลาดจึงควรใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 วรรคสาม ตอนท้ายขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องของตนด้วย

     

    มาตรา 296 วรรคห้า และวรรคหก เป็นมาตรการตอบโต้การร้องขอเพิกถอนโดยไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า โดยวรรคห้า ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอเพิกถอนนั้น ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องขอเพิกถอนวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ถ้าผู้ร้องขอเพิกถอนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งศาลที่ออกตามความในวรรคห้านี้ให้เป็นที่สุด

     

    ส่วนมาตรา 296 วรรคหก ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอเพิกถอนโดยไม่มีมูลนั้น ร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องขอเพิกถอนโดยไม่มีมูล ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ในคดีนั้นเอง โดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ แต่ต้องยื่นคำร้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องขอเพิกถอนโดยไม่มีมูล คำสั่งศาลตามวรรคหกนี้ไม่มีบทบัญญัติให้ถึงที่สุด ดังนั้นคู่กรณีจึงอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาทั่วไป

     

     

    ************************

     

     


    โดย : Administrator วัน-เวลา : 5 กันยายน 2553 | 17:50:10   From ip : 183.89.85.198

    ร่วมแสดงความคิดเห็น
    ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
    อีเมลล์ (E-mail) :
    แสดงความคิดเห็น :
    ภาพประกอบ :




    ** สูงสุด 6 ภาพ ต่อการโพส 1 ครั้งคะ ใช้ภาพที่เป็นสกุล .jpg, .gif, .png นะคะ ชื่อไฟล์ขอเป็นภาษาอังกฤษนะคะ

    รหัสอ้างอิง :

      


    http://www.thailawyer.net/ ให้คุณมากกว่าที่คุณคิด